“ไส้เดือนดิน” จัดอยู่ในกลุ่มผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ
 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามที่อยู่อาศัยและนิสัยในการกินอาหาร
คือ ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์
 และไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ใต้ดินโดยการขุดรูอยู่ โดยไส้เดือนดิน
ที่อยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์จะมีประสิทธิภาพในการย่อย
สารอินทรีย์ในดินได้ดีกว่า และมีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วกว่าด้วย
โดยทั่วไปในธรรมชาติไส้เดือนดินมีอายุที่ยาวนาน ตั้งแต่ 4-10 ปีขึ้น
อยู่กับชนิดของไส้เดือนดิน แต่เมื่อนำมาเพาะเลี้ยงมักพบว่า
ไส้เดือนดินมีอายุสั้นลง โดยทั่วไปจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี
   -สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน
 ประกอบด้วย
 1.ความชื้น ไส้เดือนดินแต่ละชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี
ในความชื้นที่แตกต่างกัน เช่น ความชื้นที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินที่
อาศัยอยู่ใต้ดินคือ 40-70% ส่วนไส้เดือนดินที่อาศัยใต้กองมูลสัตว์หรือ
ซากอินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดีที่ความชื้น 70-80% เป็นต้น
2.อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไส้เดือนดิน อยู่ในช่วง
15-28 องศาเซลเซียส โดยไส้เดือนดินในเขตร้อนจะทนต่ออุณหภูมิสูง
ได้ดีกว่าไส้เดือนดินในเขตอบอุ่น
 3.ความเป็นกรด-ด่างของดินมีผลต่อไส้เดือนดิน
โดยทั่วไปความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมต่อไส้เดือนดินอยู่ในช่วง 6.0-8.0
 อย่างไรก็ตามพบว่าไส้เดือนดินบางชนิดสามารถอาศัยอยู่ในสภาพที่เป็น
กรดจัดได้ (3.7-4.7)
4.ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไส้เดือนดินจะสามารถดำรงชีวิต
อยู่ได้ในดินที่มีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง
 0.01-11.5% ถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่สูงกว่าที่กำหนด
จะเป็นอันตรายต่อไส้เดือนดิน
   -จากลักษณะการกินอาหาร (ซากอินทรีย์) และการอยู่อาศัยของไส้เดือนดิน
 ทำให้มีประโยชน์ต่อดินในแง่ของการย่อยสลายซากอินทรีย์ในดิน
 ทำให้ดินมีธาตุอาหารและสาร  ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
 รวมทั้งการเคลื่อนที่ไปหาอาหารของไส้เดือนดินเป็นการไชชอนดิน ทำให้ดินมี
ความร่วนซุย มีการระบายของน้ำและการแพร่กระจายของอากาศในดินได้ดี
 จึงเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตในดินไม่ว่าจะเป็นพืช จุลินทรีย์ และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ
   -วัตถุประสงค์ของการนำไส้เดือนดินมาเพาะเลี้ยงในประเทศไทย
มีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการคือ
 ประการแรกเป็นอาหารสัตว์
 ประการที่สอง คือนำมาใช้ย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร
และอาหารเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เช่น เศษผัก ผลไม้หรือมูลสัตว์ เป็นต้น

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/